วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิจัยชั้นเรียน : การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ในการเขียนตอบรายวิชานิติปรัชญาด้วยวิธีผังความคิด

โดย อาจารย์ดวงพร  เลิศเจริญสมัย 
 คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 

               วิชานิติปรัชญาเป็นหนึ่งในหลายวิชาที่ผู้เรียนมักกล่าวว่า เป็นวิชาที่ยากที่จะเข้าใจ เพราะเป็นวิชาในเชิงคุณค่า หรือเชิงอุดมคติ ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียบเรียงและถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่ตนเข้าใจอยู่ให้สอดคล้องกับหลักการเขียนตอบวิชานิติปรัชญาที่เป็นข้อสอบแบบอัตนัยซึ่งต้องอาศัยการจดจำและเข้าใจในเนื้อหาสาระว่าปรัชญาแต่ละยุคสมัยนั้นๆ ได้มีหลักการอย่างใด นักปรัชญาแต่ละท่านในแต่ละยุคสมัยได้วางแนวคิด หลักการ และระบบไว้อย่างไร ตลอดจนนักปรัชญาคนดังกล่าวได้มีใครวิพากษ์วิจารณ์ไว้หรือไม่ อย่างไร  ถ้ามีผู้นั้นเป็นใคร วิจารณ์อะไร  และ แนวความคิดของนักปรัชญาคนนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ซึ่งด้วยหลักการตอบดังกล่าวจึงได้ส่งผลให้การเรียน และเขียนตอบวิชานิติปรัชญาของผู้เรียนจึงมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในการเรียน

                ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้วิจัยในฐานะผู้สอนวิชานิติปรัชญา จึงได้ทำการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยที่ผู้วิจัยและนักศึกษาเข้ามามีบทบาทร่วมกัน ด้วยการใช้วิธีผังความคิด ซึ่งเป็นวิธียึดหลักการจัดการเรียนการสอน และวิธีช่วยจำที่เน้นการสรุปเนื้อหาใจความสำคัญของเรื่องมาเชื่อมโยงสู่สาระสำคัญ จะเป็นการมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดมโนคติ และเจตคติที่ดีต่อการเรียน ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาความรู้ความเข้าใจจนสามารถถ่ายทอดความรู้ทั้งทักษะด้านการพูดและการเขียนตอบในรายวิชานิติปรัชญาได้เป็นอย่างดี
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยชั้นเรียนของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ รายวิชานิติปรัชญา เป็นจำนวนทั้งสิ้น 43 คน โดยศึกษาพบว่า จากตารางบันทึกคะแนนผลการตรวจการเขียนตอบวิชานิติปรัชญาโดยใช้วิธีผังความคิด รวม  10 ครั้งนั้น ผลปรากฏว่า การวิจัยครั้งนี้ คะแนนการแปรผลได้ 3.41 ซึ่งอยู่ในระดับผลสัมฤทธิ์ปานกลาง จากการสังเกตบันทึกคะแนนการทำแบบทดสอบพบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการไม่เข้าชั้นเรียนเพื่อฝึกทักษะของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้วัตถุประสงค์ของการวิจัยไม่สัมฤทธิ์ผล มีเพียงนักศึกษา 7 คนจาก 43 คนผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 60  และนักศึกษากว่าครึ่ง ไม่ผ่านเกณฑ์การให้คะแนนดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการวัดผลการศึกษาวิชานิติปรัชญา เมื่อนักศึกษาได้ทำการสอบปลาย ผู้วิจัยได้พบว่า นักศึกษาส่วนได้มีการนำหลักการดังกล่าวมาใช้ในการสอบ ซึ่งผลปรากฎว่าจำนวนนักศึกษาที่ทำคะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ในระดับ 60 คะแนน ขึ้นไป หลังสอบปลายภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม 7 คน ซึ่งเดิมคิดเป็นร้อยละ 16.29 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 22 คน คิดเป็นร้อยละ 51.15 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.85  ส่วนจำนวนนักศึกษาที่สอบได้ต่ำกว่าเกณฑ์ มีจำนวนลดลง  จากเดิม 35 คน คิดเป็นร้อยละ  83.72 ลดลงเหลือจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ  48.85 เฉลี่ยลดลงร้อยละ 24.87  โดยสิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษาสามารถนำหลักการเขียนตอบโดยใช้ผังความคิดมาเขียนตอบ ได้มากกว่าครั้งทำการทดสอบในชั้นเรียนที่เกิดมีผลสัมฤทธิ์ปานกลาง เป็นผลสัมฤทธิ์ ระดับมากที่สุด นั่นคือระดับ 4.83 ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่าการสอนนักศึกษาในรายวิชาที่เป็นแนวคิด เนื้อหาสาระมาก ด้วยหลักการใช้แผนผังความคิด สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ในการเขียนตอบของนักศึกษาให้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ซึ่งสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนการเรียนการสอนของคณาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนต่อไปได้เป็นอย่างดี  แต่อย่างไรก็ตามในการวิจัยครั้งนี้ แม้จะมีนักศึกษาประสบผลสัมฤทธิ์ในระดับมากที่สุด แต่จำนวนนักศึกษาเกือบครึ่งที่ไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ เนื่องจากปัจจัยด้านพฤติกรรมนักศึกษา ความสามารถในการจดจำ กระบวนการคิดทางด้านกายภาพ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการ ทำกิจกรรม การฝึกงาน หรือสุขภาพ เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยเห็นว่าวิธีการใช้แผนผังความคิดดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีการอธิบายประโยชน์ การฝึก เพื่อให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีกับหลักการดังกล่าว อันจะส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมฝึกทักษะนี้มากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น